เทียบฟอร์มอาเซียนปี 68 จีดีพีไทยรั้งเบอร์ 9 สิงคโปร์-เวียดนามไปโลด

03 มกราคม 2568
เทียบฟอร์มอาเซียนปี 68 จีดีพีไทยรั้งเบอร์ 9 สิงคโปร์-เวียดนามไปโลด

เทียบฟอร์มอาเซียนปี 68 จีดีพีไทยรั้งเบอร์ 9 สิงคโปร์-เวียดนามไปโลด

นปี 2025 หรือ พ.ศ. 2568 ไทยต้องวางตำแหน่งเศรษฐกิจและภาคการผลิตให้ดีว่าจะไปในทิศทางใด เพราะนอกจากเศรษฐกิจไทยต้องเจอกับ “ทรัมป์ 2.0” สินค้าและทุนจีนที่จะทะลักเข้าไทยมากขึ้น และสงครามจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยังยืดเยื้อแล้ว

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปี 2568 ไทยยังต้องเจอกับภาวการณ์แข่งขันจากประเทศอาเซียนด้วยกันเองไม่ว่าจะเป็นการดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศ การส่งออก จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และศักยภาพของแรงงาน ที่จะส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้จากข้อมูลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2556-2565) อินโดนีเซียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดในอาเซียน ตามด้วย ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา กัมพูชา บรูไน และลาว ตามลำดับ

โดยอัตราขยายตัวเศรษฐกิจสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มประเทศที่มีอัตราการขยายตัวมากกว่า 6% ต่อปี คือ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) แต่ในปี 2568 จะเหลือเวียดนามและกัมพูชาเพียงสองประเทศที่จะยังคงมีอัตราการขยายตัว 6%

สำหรับกัมพูชานั้น สาเหตุหลักมาจากการท่องเที่ยวที่พื้นตัว การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการส่งออกในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานที่ไปในทิศทางที่ดี ส่งผลให้การลงทุนของจีนในกัมพูชาฟื้นตัว ส่วนเวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพทั้งต้นทุนการผลิตที่ตํ่า แรงงานมีมากและมีศักยภาพที่เพิ่มขึ้น การเมืองนิ่ง นโยบายเศรษฐกิจชัดเจนตามเป้าหมาย

ส่วนกลุ่มประเทศที่มีอัตราการขยายตัว 4-5% คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ส่วนสิงคโปร์มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 3% และไทยขยายตัวตํ่ากว่า 2%

ในปี 2568 คาดว่าไทยจะยังคงมีอัตราการขยายตัวของ GDP ตํ่ากว่าค่าเฉลี่ยในอาเซียนเหมือนเดิม โดยจะเป็นอันดับที่ 9 ของอาเซียน ตามด้วยเมียนมา

สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ หรือ FDI ในปี 2568 สิงคโปร์ยังเป็นเป้าหมายอันดับ 1 ของนักลงทุนต่างชาติ โดยที่ยังลงทุนต่อเนื่องคือ Agritech หรือการทำเกษตรเพื่อความมั่นคงด้านอาหารด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย ภายใต้นโยบาย “30+30” คือผลิตอาหารให้ได้ 30% ในปี 2030 นอกจากนี้ยังลงทุน “Medtech” หรือศูนย์กลางทางการแพทย์ที่ทันสมัย และพลังงานสะอาด

ด้านอินโดนีเซีย ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางห่วงโซ่รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถ EV ครบวงจร ทั้งแบตเตอรี่ สถานีชาร์จ การผลิตชิ้นส่วน และเศรษฐกิจดิจิทัลใช้ AI และ E-commerce ส่วนเวียดนามจะลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ เกษตรแปรรูป และพลังงานสะอาด ขณะที่มาเลเซียลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานสะอาด เซมิคอนดักเคอร์ และรถ EV ส่วนไทยลงทุนรถ EV เศรษฐกิจดิจิทัล อาหารแห่งอนาคต เซมิคอนดักเตอร์

“การส่งออก” มูลค่าการส่งออกไทยยังอยู่อันดับ 5 ของอาเซียน หากเทียบกับเวียดนามในทุกหมวดอุตสาหกรรม เวียดนามส่งออกมากกว่าประเทศไทยทุกหมวด โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของเวียดนามคิดเป็นสัดส่วน 88% ของการส่งออกรวม ขณะไทยคิดเป็น 80% ของการส่งออกรวม การส่งออกของเวียดนามถูกขับเคลื่อนด้วย FDI สัดส่วน 80% ส่วนไทยสัดส่วน 60% ที่เหลือเป็นการลงทุนจากนักลงทุนภายในประเทศ ซึ่งปี 2568 การส่งออกของไทยคงยังอยู่อันดับที่ 5 ของอาเซียนต่อไป

“การท่องเที่ยว” เป็นอุตสาหกรรมเดียวที่ทำเงินให้ประเทศไทยมากที่สุดในอาเซียน ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาสูงกว่าทุกประเทศ ตามด้วย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม

เมื่อเทียบปัจจัยเศรษฐกิจหลักข้างต้นแล้ว พอจะสรุปหรือเทียบฟอร์มเศรษฐกิจไทยกับประเทศในกลุ่มอาเซียนในปี 2568 ได้ดังนี้ 1.อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยตํ่ากว่าประเทศอาเซียน 2.อุตสาหกรรมที่ไทยผลักดัน “ซํ้าซ้อนกัน” กับหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งขึ้นกับเสน่ห์ของเศรษฐกิจไทยจะมีแค่ไหนที่จะสามารถดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ

3.ศักยภาพของแรงงานไทย ถูกไล่หลังจากเพื่อนบ้านหลายประเทศที่มีศักยภาพแซงหน้าไทยไปแล้ว ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการดึง FDI เข้าประเทศ 4.ไทยเก่งเรื่องท่องเที่ยว ดังนั้นต้องทำหลายเรื่องไปพร้อมๆ กันคือ ทำท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พลังงานที่ใช้เป็นพลังงานสะอาด ผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก และสามารถเชื่อมโยงกับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิตที่ทันสมัยได้ และ 5. FDI และการส่งออกในปี 2568 ไทยยังเป็นรองหลายประเทศในอาเซียน


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.